Land Use Mapping Techniques
วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
แนวคิดเบื้องต้นการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน (BASIC LAND-USE PLANNING)
“ที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด บนท่ามกลางความต้องการการใช้ประโยชน์กิจกรรมบนที่ดินที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด”
แนวคิดการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินจำแนกอธิบายในรายละเอียดได้เป็น 4 ประเด็น ได้แก่ 1)
นิยามการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2) ระดับการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 3) กระบวนการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน
และ 4) เครื่องมือควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน
1) นิยามการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน
การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นกระบวนการประเมินอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับศักยภาพและทางเลือกในการใช้ประโยชน์ของที่ดินให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจในรูปแบบลักษณะต่างๆ
เพื่อทำการเลือกหนึ่งในรูปแบบเหล่านั้นจากกระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม
และสามารถดำเนินการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ตอบสนองต่อความต้องการที่จำเป็นของสมาชิกในสังคมร่วมกัน
ตลอดจนการดูแลรักษาทรัพยากรภายในพื้นที่สำหรับอนาคต
2) ระดับการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน
การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยทั่วไปแบ่งระดับการวางแผนไว้ 3 ระดับ ได้แก่ 1)
ระดับชาติ 2) ระดับย่านพื้นที่ และ 3) ระดับท้องถิ่น โดยทั้งสามระดับนี้ไม่จำเป็นต้องมีการเรียงลำดับต่อเนื่องกัน
แต่ควรมีความสอดคล้องในการตัดสินใจและดำเนินการสัมพันธ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบายและการดำเนินการ
ลักษณะเฉพาะที่สำคัญคือ ระดับการวางแผนที่ต่างกัน มีความต้องการในการตัดสินใจ
การมีส่วนร่วมท่ามกลางผู้มีส่วนได้เสียและกลยุทธ์ที่ต่างกัน
เป็นไปเพื่อความสามารถในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์องค์ประกอบของระดับแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ต่างระดับกัน
ภาพโดย ปานปั้น รองหานาม
การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินระดับชาติ (National land-use planning) จะสัมพันธ์กับเป้าหมายเพื่อการจัดสรรทรัพยากรของชาติ
ซึ่งจะไม่ลงรายละเอียดไปถึงการจัดสรรทรัพยากรในเชิงดำเนินการของที่ดิน
แต่จะเป็นการจัดลำดับการจัดสรรโครงการระดับย่านพื้นที่ มีขอบเขตสาระกล่าวคือ
·
การวางนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดิน
เป็นการสร้างสมดุลความต้องการด้านการแข่งขันของที่ดินท่ามกลางภาคส่วนกิจกรรมต่างๆ
ในการผลิตอาหาร การส่งออกผลผลิต การท่องเที่ยว
การอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและมรดกวัฒนธรรม ย่านที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ
และระบบคมนาคมขนส่ง
·
การประสานการร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและการใช้ประโยชน์ที่ดิน
·
การออกกฎหมายเกี่ยวกับลักษณะการครอบครองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน
เช่น การคุ้มครองพื้นที่ป่าไม้และแหล่งน้ำ
เป้าหมายการใช้ประโยชน์ที่ดินในระดับชาติจะมีความซับซ้อนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเชิงนโยบาย
การออกกฎหมาย และมาตราการการคลังที่ส่งผลกับประชาชนและการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่
ทั้งนี้บุคคลผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายอาจจะไม่สามารถมีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประโยชน์ที่ดินในทุกด้าน
ดังนั้นนักวางแผนควรมีการสนับสนุนข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บุคคลผู้มีอำนาจตัดสินใจมีความเข้าใจความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเพื่อการตัดสินใจที่สามารถดำเนินการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแบบแผนที่กำหนดไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินระดับย่านพื้นที่ (District land-use planning) อาจจะไม่จำเป็นต้องหมายถึงขอบเขตย่านพื้นที่ในด้านการปกครอง
เช่น ตำบล หรืออำเภอ
แต่หมายถึงย่านที่ดินที่มีความสัมพันธ์ของประเด็นสาระในการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกัน
เช่น
การกำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการอนุรักษ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
เป็นต้น และเป็นระดับของการวางแผนเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างระดับชาติคลี่คลายลงมาสู่ระดับท้องถิ่น
เช่น การวางแผนระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่กำหนดไว้
หรือการวางแผนแนวทางการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาและการปรับปรุงการจัดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน
การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินระดับท้องถิ่น (Local land-use planning) มีลักษณะครอบคลุมขอบเขตหมู่บ้าน
กลุ่มหมู่บ้าน
การวางแผนในระดับนี้ค่อนข้างสามารถกำหนดแผนได้ถึงการบอกรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน
และสามารถกระจายผลประโยชน์และความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้
ซึ่งจะสามารถบ่งชี้ได้ในรายละเอียดขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน เช่น
ลักษณะภูมิปรเทศของที่ดิน รูปแบบการดำเนินโครงการ ลักษณะสถานที่
ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นการดำเนินโครงการ
ตลอดจนการกำหนดบุคคลผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วนงานที่เกี่ยวข้อง
การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินระดับท้องถิ่นจะมีความเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมท่ามกลางผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการวางแผนสูง
โดยเฉพาะประชากรหรือชุมชนในพื้นที่ ทั้งกลุ่มเจ้าของที่ดิน
กลุ่มหน้าที่เจ้าหน้าที่เชิงเทคนิคในการวางแผน ตลอดจนกลุ่มภาครัฐท้องถิ่น
ที่ต้องมีการประสานการร่วมมือขับเคลื่อนแผนงานสู่การระบุการจัดลำดับการพัฒนา
และการร่างแผนการดำเนินการ
3) กระบวนการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน
กระบวนการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินมีรูปแบบขั้นตอนที่หลากหลาย
รูปแบบขั้นตอนที่ต่างกันจะขึ้นอยู่กับบริบทและประเด็นของการวางแผน
ซึ่งถือเป็นกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์
อภิปรายและการตัดสินใจเลือกรูปแบบของแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อดำเนินการ
สำหรับบทความนี้แบ่งขั้นตอนการวางแผนเป็น 10 ขั้นตอน
อธิบายรายละเอียดได้ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดเป้าหมายและเงื่อนไขความสัมพันธ์องค์ประกอบเพื่อไปสู่เป้าหมาย
ขั้นตอนนี้มาจากการอภิปรายร่วมกันท่ามกลางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงนักวางแผนด้วย
ซึ่งควรมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้สำหรับการร่างสถานการณ์และวิสัยทัศน์ร่วมกัน
ขั้นตอนที่ 2 การบริหารดำเนินส่วนงานที่เกิดขึ้น
เป็นขั้นตอนเพื่ออภิปรายร่วมกันในการค้นหาแนวทางและขั้นตอนการทำงานร่วมกันเพื่อไปสู่การกำหนดแผนงานดำเนินการไปสู่การบรรลุเป้าหมาย
ขั้นตอนที่ 3 การวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา เงื่อนไข
และข้อจำกัดของการดำเนินแผนงาน
เป็นขั้นตอนในเชิงเทคนิคของการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ซึ่งต้องมีการสร้างรูปแบบลักษณะต่างๆ
ของแผนงานเพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบแต่ละรูปแบบในการไปสู่เป้าหมายด้วยองค์ประกอบ
เงื่อนไขและข้อจำกัดเพื่อนำไปสู่การเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด
สำหรับขั้นตอนนี้อาจสามารถใช้เทคนิคการสร้างฉากทัศน์เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และการเปรียบเทียบแต่ละรูปแบบของแผนงาน
ขั้นตอนที่ 4 การระบุโอกาสและแนวทางสำหรับการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน
เป็นขั้นตอนการสร้างทางเลือกหรือสถานการณ์ในการแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
อาจต้องมีการเจรจาร่วมกันระหว่างกลุ่มเจ้าของที่ดิน กลุ่มผู้ดำเนินกิจกรรม
และกลุ่มผู้มีอำนาจการตัดสินใจในเชิงนโยบาย
ขั้นตอนที่ 5 การประเมินความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ของที่ดิน
เป็นขั้นตอนสำคัญของการประเมินที่ดินที่ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทใดที่มีความเหมาะสมบนที่ดินบริเวณนี้มากที่สุด
และที่ดินบริเวณแห่งนี้ควรมีการใช้ประโยชน์ใดเหมาะสมที่สุด ขั้นตอนนี้ควรมีรายละเอียดการอธิบายการจัดกลุ่มประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน
และการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทมีข้อกำหนดเงื่อนไข
ร่างการกำหนดแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ข้อมูลแผนที่ลักษณะทางกายภาพภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
และการเปรียบเทียบข้อกำหนดเงื่อนไขสำหรับการจัดวางประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมตามเงื่อนไขของบริบทพื้นที่แห่งนั้น
ขั้นตอนที่ 6 การประเมินค่าของทางเลือกในแต่ละรูปแบบของร่างแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ทั้งในมุมมองการวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม
ขั้นตอนนี้ควรมีการกำหนดกลุ่มตัวชี้วัดเพื่อใช้สำหรับการประเมินค่าในแต่ละรูปแบบอย่างเป็นระบบ
ขั้นตอนที่ 7 การตัดสินใจร่วมกันในการเลือกรูปแบบร่างแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ประเมินค่าได้เหมาะสมที่สุด
เป็นขั้นตอนของนักวางแผนมีบทบาทในการจัดเตรียมสรุปข้อมูลสำคัญที่สามารถสะท้อนความจริงสำหรับการตัดสินใจ
และผู้มีอำนาจตัดสินใจในที่นี้อาจจะหมายถึงกลุ่มมีผู้ส่วนได้เสียที่มีบทบาทในการเลือกรูปแบบแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกันได้
ขั้นตอนที่ 8 การจัดเตรียมแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและรายละเอียดเงื่อนไข
เป็นขั้นตอนนำเสนอแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้รับคำแนะนำจากผู้มีส่วนได้เสีย
และเหตุผลในการตัดสินใจรับรองรูปแบบแผนผังนี้ที่ได้มาจากขั้นตอนที่ 1-7 ตลอดจนการจัดเตรียมเงื่อนไขสำหรับการนำไปใช้
ขั้นตอนที่ 9 การนำแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินไปใช้ เป็นขั้นตอนสำหรับการนำไปสู่การดำเนินการตามเงื่อนไขของแผนผังที่กำหนดไว้และสามารถนำไปสู่การเข้าใจถึงประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่กำหนดร่วมกันไว้ในเชิงประจักษ์
ขั้นตอนที่ 10 การติดตามตรวจสอบและปรับปรุงแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน
เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการวางแผนที่มีลักษณะกลับไปสู่ขั้นตอนที่ 1 ซึ่งในการติดตามตรวจสอบจะทำให้เกิดข้อมูลที่จำเป็นในการทบทวนว่าแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในเชิงประจักษ์ได้เพียงใด
และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามที่วางแผนไว้ด้วยเหตุปัจจัยใด
4) เครื่องมือควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน
เครื่องมือควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินจะอยู่ในลักษณะของกฎหมาย
ข้อบังคับ พระราชบัญญัติ ข้อกำหนดท้องถิ่นหรือเทศบัญญัติ
ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับระดับการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน
สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินผังเมืองรวมภายใต้กฎกระทรวง
***หมายเหตุ – อ่านรายละเอียดเงื่อนไขการใช้เครื่องมือเพิ่มเติมได้ใน
นพนันท์ ตาปนานนท์. 2543. ปัญหาเกี่ยวกับแผนผังและข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวม [ออนไลน์]. แหล่งที่มา:
http://www.cuurp.org/B_resource/B_data/articles/2543_01.pdf [20 สิงหาคม 2556] และ วรรณศิลป์ พีรพันธุ์ และคณะ. 2551. รายงานฉบับสุดท้าย: โครงการศึกษาตัวแบบมาตรฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อวางผังเมืองรวม. กรุงเทพฯ: กรมโยธาธิการและผังเมือง.
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)